รับมือลูกกรี๊ด !!

Last updated: 15 ธ.ค. 2564  |  744 จำนวนผู้เข้าชม  | 

รับมือลูกกรี๊ด !!

รับมือลูกกรี๊ด !!


....วันนี้ แม่กรีนขอแชร์ประสบการณ์ในส่วนลูกวัยอนุบาลที่ลองกรี๊ดค่ะ ย้ำว่าลูก “ลอง” กรี๊ด คุณพ่อคุณแม่อาจเคยสังเกตว่า เมื่อลูกกรี๊ด จะมีชำเลืองมองเราอยู่เสมอ ว่าเราจะโต้ตอบยังไง ได้ผลอย่างที่ใจเค้าคาดหวังมั้ย?? ส่วนใหญ่วิธีลองของลูกนี้มักจะได้ผลในหลายบ้านที่คุณปู่ย่าคุณตาคุณยาย เป็นผู้ดูแล เพราะท่านอยู่ในช่วงวัยที่ต้องการความสงบเป็นที่สุด ให้ท่านอดทนต่อเสียงแว้ดๆแบบนี้คงไม่ไหว หากอยากฝึกลูกให้เรียนรู้อารมณ์และการควบคุมอารมณ์อย่างได้ผลจริงๆ คุณพ่อคุณแม่นี่แหละ เป็นโค้ชอารมณ์ที่ดีที่สุดของลูกรัก ลองอ่านวิธีที่แม่กรีนโค้ชลูกดูกันค่ะ(เขียนตามประสบการณ์ของเราเอง อาจต่างกันตามแต่ละบ้าน)


....ลูกแม่กรีนเริ่มลองกรี๊ด หลังจากที่ไปเห็นน้องเล็กๆหลายๆคนกรี๊ดที่รร.ค่ะ เค้าคงรู้สึกว่า แปลกใหม่ ดูมีอำนาจ พอลองครั้งแรกแล้วติดใจ ครั้งแรก เราเตือน เค้าหยุด เราพาไปในสถานการณ์อื่นแทน หลังจากนั้นสัปดาห์นึงมีอีกหนค่ะ จัดใหญ่มาเลย ครั้งนี้เกิดจากเค้าโดนขัดใจเรื่องของกิน ถ้าเราใช้วิธีเดิม คือ เลี่ยงไปสิ่งอื่นแทน คงจบปัญหาแค่ชั่วคราว รอบนี้เราเลยบอกเค้าด้วยน้ำเสียงหนักแน่น มั่นคง แต่ไม่มีอารมณ์แฝง ว่า....
       “หนูไม่พอใจที่โดนขัดใจ แม่เข้าใจค่ะ”
       “หนูบอกแม่ได้ แต่กรี๊ดแบบนี้แม่ไม่ชอบ แม่จะกอดและคุยกันตอนที่หนูสงบ”


ในช่วงที่เค้ากรี๊ด เสียงดัง เราพาเค้าแยกมุมไปไกลคนอื่นๆในบ้านค่ะ บอกเค้าว่า


       “หนูนั่งแยกตรงนี้ค่ะ เพราะเสียงหนูดังรบกวนคนอื่น”


แรกๆเค้าจะไม่ยอมค่ะ เราจะจับตัวเค้าไว้บนเก้าอี้อย่างมั่นคง และไม่สนใจไม่โต้ตอบจนกว่าเค้าจะสงบ
1 ชั่วโมงผ่านไปค่ะ เค้าสงบลง และเรามานั่งคุยกันถึงเรื่องที่เกิดขึ้น ให้เค้าลำดับเหตุการณ์และอารมณ์ที่เกิด ที่สำคัญคือสอนให้รู้ว่าอารมณ์แบบนั้นเป็นไง เป็นเรื่องธรรมดาที่คนเรามีอารมณ์ต่างๆ เราสามารถรู้ทัน และควบคุมมันได้ยังไง เช่น เมื่อรู้ว่าเราหงุดหงิดโมโห เราอาจ นับเลข 1-10 ถ้านิ้วมือไม่พอ ก็ต่อนิ้วเท้าเลยลูก , ไปเดินเล่นดูปลา หรือไปทางอื่น, เตะบอล ,ฉีกกระดาษ แต่ต้องเก็บนะจ้ะ
สุดท้ายให้เค้าแสดงความเห็นว่า เค้าถนัดแบบไหน อยากทำอะไร เพื่อปรับอารมณ์ตนเอง และตกลงร่วมกัน
หลังจากนั้น เค้าควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้นค่ะ มีแหย่แม่ด้วยการส่งเสียงกรี๊ดเบาๆ สั้นๆ แล้วหยุดเอง แบบไม่เดือดร้อนใคร
หลายสัปดาห์ผ่านไป กรี๊ดอีกครั้ง แต่ครั้งนี้ เค้าไปสงบตัวเอง ได้เร็วขึ้น น่าจะน้อยกว่า 15 นาที หลังโมโหค่ะ เค้าไปนั่งที่เตียงแล้วเอาตุ๊กตาช้างมานั่งข้างๆ เสมือนเป็นเพื่อนร่วมสงบอารมณ์ สงบแล้วเดินมาหาแม่ เพื่อคุยกันค่ะ ตอนนี้เรามีข้อตกลงล่าสุด คือ “เราสองคนอยู่คอนโด เป็นที่ที่มีหลายครอบครัวอยู่ เรากรี๊ดเสียงดัง ทำให้คนอื่นหนวกหู และเดือดร้อน”


แม่กรีน  “เราเสียใจได้ งอแงได้ ในมุมที่หนูเลือก แต่ไม่เสียงดัง ถ้าเสียงดังเราต้องออกไปในที่ๆไม่มีใคร”
ลูก       “แล้วที่ที่ไม่มีใคร ปลอดภัยมั้ยมาม๊า”
แม่กรีน  “ หนูคิดว่าไง ที่ที่เราอยู่ปลอดภัยถึงมีคนอยู่ใช่มั้ย แล้วที่ที่ไม่มีใคร หนูคิดว่าปลอดภัยมั้ย?”
ลูก       “ไม่ปลอดภัยค่ะ หนูอยากอยู่ที่ปลอดภัย”
แม่กรีน  “ถ้าหนูอยากอยู่ที่ที่ปลอดภัย เราก็ควรทำตัวให้ปลอดภัยต่อคนอื่น ไม่ทำร้ายคนอื่นด้วยเสียงดัง หรือ ตีคนอื่น โอเคมั้ยค่ะ”
ลูก       “โอเคค่ะ” จบด้วยการกอดกันสวยๆ เย้ๆ


.....เรื่องคำพูดที่ใช้ คุณพ่อคุณแม่อาจต้องปรับเอาตามการรับรู้ของเด็ก และสไตล์พ่อแม่แต่ละบ้านค่ะ
ในขั้นตอนข้างบน อ่านดูเหมือนง่าย แต่จริงๆยากมากค่ะ คนเป็นพ่อแม่จะรู้เลยว่า ระหว่างลูกอารมณ์ขึ้นนั้น อารมณ์เราก็ควบคุมยากเหมือนกัน โดยเฉพาะช่วงเร่งด่วน ต้องทั้งอดทนและเสียสละจริงๆ ระหว่างรอลูกปรับอารมณ์เราก็ทำงานนู่นนี่ไปนะคะ จะได้ไม่ไปโฟกัสเค้ามากเกิน
เราแชร์ส่วนของเราแล้ว คุณพ่อคุณแม่แชร์กันมานะคะ ช่วยๆกันหลายๆวิธี

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้