มือ เท้า ปาก #โรคฮิตช่วงเปิดเทอม

Last updated: 14 ธ.ค. 2564  |  1118 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มือ เท้า ปาก #โรคฮิตช่วงเปิดเทอม

รู้จักโรคมือ เท้า ปาก

โรคมือ เท้า ปาก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเอนเทอโรไวรัส (Enterovirus) และคอคซาคีไวรัส (Coxsackievirus) มักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ปี พบได้บ่อยในเด็กทารกและเด็กเล็ก ซึ่งมักมีอาการรุนแรงมากกว่าเด็กโต ในผู้ใหญ่พบโรคนี้ได้บ้าง
 

การติดต่อ

โรคมือ เท้า ปาก เป็นโรคที่ติดต่อกันได้จากการรับประทานอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อนเชื้อโรคที่มาจากน้ำมูก น้ำลาย และอุจจาระของผู้ป่วย รวมถึงการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายจากการไอ จามของผู้ป่วย หรือการสัมผัสตุ่มพุพองหรือแผลของผู้ป่วย โดยโรคนี้จะมีระยะฟักตัว 3-6 วันหลังจากได้รับเชื้อ
 
ทั้งนี้ สถานที่ที่มักพบการระบาดของโรค ได้แก่ สถานรับเลี้ยงเด็ก และโรงเรียนอนุบาล
 
อาการของโรค

อาการเริ่มต้นของโรคมือ เท้า ปาก จะคล้ายไข้หวัด คือ มีไข้ประมาณ 2-4 วัน และปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ จากนั้นจะมีผื่นแดงอักเสบที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ต่อมาเกิดผื่นแดงที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า ในบางรายอาจพบที่ก้นด้วย โดยผื่นที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะกลายเป็นตุ่มพองใสและแตกออกเป็นแผลหลุมตื้นๆ  

 
โรคมือ เท้า ปาก อาจทำให้เกิดอาการแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น เยื่อหุ้มสมองอักเสบ สมองอักเสบ อัมพาตกล้ามเนื้ออ่อนปวกเปียก หรือกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ไปจนถึงเสียชีวิตได้
 
การรักษา

โรคมือ เท้า ปาก ยังไม่มีการรักษาโดยเฉพาะ แต่จะใช้การรักษาตามอาการที่เป็น เช่น ให้ยาลดไข้ ยาแก้ปวด
 
การป้องกัน

ในปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนเพื่อป้องกันโรคมือ เท้า ปาก อย่างไรก็ตามผู้ปกครองสามารถป้องกันโรคมือ เท้า ปาก ได้โดย
-หลีกเลี่ยงการให้เด็กคลุกคลีหรือใกล้ชิดกับผู้ป่วย
-รักษาอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะผู้เลี้ยงดูเด็กเล็กควรล้างทำความสะอาดมือก่อนหยิบจับอาหารให้เด็กรับประทาน และรับประทานอาหารที่สุก สะอาด ปรุงใหม่ๆ ไม่มีแมลงวันตอม ดื่มน้ำสะอาด
-ไม่ใช้ภาชนะในการรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะช้อน จาน ชาม แก้วน้ำ ขวดนม
-เมื่อเช็ดน้ำมูกหรือน้ำลายให้เด็กแล้วต้องล้างมือให้สะอาดโดยเร็ว
-ผ้าอ้อมหรือเสื้อผ้าที่เปื้อนอุจจาระต้องรีบซักให้สะอาดโดยเร็ว และทิ้งน้ำลงในโถส้วม ห้ามทิ้งลงท่อระบายน้ำ

โดยสรุปย่อๆ คือ


@ติดต่อโดยการสัมผัสของเหลวจากร่างกาย เช่น น้ำลาย. น้ำมูก
@ส่วนใหญ่มีไข้สูง 2-3 วันแรก #บางทีมีไอคล้ายไข้หวัด
@อาจมีตุ่มที่ใดที่นึง ไม่ได้ครบสามที่ บางคนออกที่ปากมาก ก็จะทานอาหารยาก ตุ่มด้านในบางทีมีเลือดออก อย่างลูกแม่กรีนเคยเป็น  มาในรูปแบบตุ่มแผลเลือดออกในลำคอด้านในปาก  ทานอาหารไม่ได้ จำเป็นต้องแอดมิทให้น้ำเกลือ
เด็กบางคนมีผื่นออกที่มือเท้า และอาจมีอาการคันได้


#แม่กรีนเภสัชแม่กรีนกายภาพ
#เพจเลี้ยงลูกให้มีภูมิคุ้มกัน

ขอบคุณภาพจากมติชน
ขอบคุณข้อมูลจากกรมควบคุมโรคติดต่อ

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้