ทำอย่างไร... ให้ลูกกล้าที่จะต่าง

Last updated: 14 ธ.ค. 2564  |  750 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ทำอย่างไร... ให้ลูกกล้าที่จะต่าง

ถ้าลูกเลียนแบบทุกคน ตัดสินใจเลือกเป็นสิ่งต่างๆ เพียงเพราะ #ความอยากเหมือนเพื่อนๆ ไม่อยากแตกต่าง แม้รู้ในใจว่า ตนเองอยากเป็นแบบไหน และอยากทำอะไร อาจส่งผลให้เค้าเกิดความคุ้นเคยที่จะต้องเหมือนเพื่อนๆอยู่เสมอ จนเติบโต และขาดการฝึกตัดสินใจด้วยตนเอง รวมถึงขาดโอกาสที่จะได้ทำงานที่ตนรัก ซึ่งแน่นอนว่า ชีวิตจริง คนที่รู้จักตัวเอง รู้ใจตัวเอง และกล้าก้าวเดินนั้น เค้าจะก้าวเดินในชีวิตได้อย่างมีความสุขในทุกๆวัน และมีกำลังพากเพียรไปสู่เป้าหมายจริงมั้ยค่ะ
เรามาดูกันว่า เราจะสนับสนุนให้ #ลูกกล้าที่จะต่าง #กล้าตัดสินใจเลือกในแบบที่ตัวเองเป็น ได้อย่างไรบ้าง

1.เข้าใจ และมีเวลาสังเกตลูก  จนรู้ได้ว่า  พื้นฐานเค้าชอบแบบไหน  และอยากทำอะไร  

โดยแค่สังเกต  ไม่ชี้นำหรือก้าวก่ายเค้า    สังเกตไว้เพื่อเป็นข้อมูล  เวลาที่ลูกตัดสินใจเลือกทำสิ่งต่างๆ  จะได้รู้ค่ะ  ว่าลูกเราตัดสินใจเพราะความกลัวต่าง  หรือเพราะเค้าชอบจริงๆ  

2.เมื่อลูกเริ่มเรียกร้อง สิ่งของต่างๆ  เพราะตามเพื่อน  อย่าใจอ่อนตามใจไปหมด  แต่คุยกันด้วยเหตุผลความจำเป็น

บ่อยครั้งที่ลูกอยากเหมือนเพื่อน เพื่อให้เข้ากลุ่มได้อย่างสนุกสนาน และไม่โดนกีดกันออกจากกลุ่ม  เด็กๆมักคัดเลือกกลุ่มแก๊งค์ จากความคล้ายคลึงกัน  เริ่มจากนิสัย  วิธีการเล่น   จนกระทั่งถึงเรื่องเครื่องแต่งกาย  ของใช้ต่างๆ    เช่น  ใช้กระเป๋ารูปการ์ตูนที่ชอบเหมือนกัน     เรื่องนี้อาจฟังเป็นเรื่องเด็กๆที่เล็กน้อย  แต่ความเป็นจริง บางครั้งก็เป็นเรื่องใหญ่สำหรับเด็กเลย    เพราะถ้าไปโรงเรียนแล้วเพื่อนในแก๊งค์ไม่ยอมรับ   เค้าอาจเริ่มมีอาการต่อต้านการไปโรงเรียน  ด้วยการบอกกับคุณพ่อคุณแม่ว่า  “หนูไม่อยากไปโรงเรียน”  

คุณพ่อคุณแม่ที่เจอปัญหาเหล่านี้   ถ้าซื้อให้หรือหาให้เค้าทุกครั้ง  แน่นอนว่า เค้าจะเลียนแบบไปอย่างไม่มีวันพอ และชินกับการต้องเหมือนเพื่อนแม้ในสิ่งไม่ดี

เราลองอธิบายให้เค้าเห็นภาพ    ด้วยการสมมติเหตุการณ์  เพื่อนคนนึง บอกคนในกลุ่มว่า ทุกคนต้องใช้กระเป๋าลายเดียวกัน  ทุกคนเปลี่ยนไปใช้แบบเดียวกันหมด  เว้นเพื่อนชื่อเอ   เพื่อนอีกคนนึง บอกคนในกลุ่มว่า ทุกคนต้องใช้กิ๊บติดผมแบบเดียวกัน  ทุกคนซื้อกิ๊บติดผมแบบเดียวกันหมด  เว้นเพื่อนชื่อบี    สุดท้าย คนในกลุ่มก็จะไม่เหลือจริงมั้ยลูก   แต่ถ้าทุกคนคบกันด้วยใจ เล่นกันสบายๆ  แบบนี้ดีกว่ามั้ย 

และถ้าเพื่อนๆบางคนของลูก  เป็นแบบนั้น  เราลองเปิดใจเล่นกับเพื่อนๆคนอื่นไปก่อน  หากวันใดเพื่อนเปลี่ยนแปลง  เราก็มาเล่นด้วยกันได้  

 

3.สอนให้ลูกรู้ “คำพูดเพื่อน ไม่ใช่ตัวกำหนดเรา”

ลองนึกถึงเมื่อก่อน  ตอนเรามีโอกาสแสดงละครในโรงเรียน  คุณครูมักกำหนดบทบาทให้ โดยดูตามที่ครูคิดว่าเหมาะสม เพื่อความสะดวกและ เพื่อผลงานที่สมบูรณ์ สวยงามในสายตาผู้เข้าชม  

แต่ในสมัยนี้ ในโรงเรียนหลายๆแห่ง เริ่มเปิดโอกาสรับฟังเด็ก   ด้วยการให้เด็กๆเลือกบทบาทเอง   ทำให้เด็กได้มีโอกาสรู้ว่าตนเองต้องการอะไร ชอบแบบไหน  และพร้อมฝึกฝนทุ่มเทด้วยใจ    ผลงานแม้ไม่สมบูรณ์แบบ แต่อบอวลไปด้วยความสุขความภูมิใจในทุกขั้นตอน 

แต่ปัญหาระหว่างเด็กก็เกิดขึ้นได้ จากการเลือกบทบาทเอง  คนที่เลือกต่างออกไปจากกลุ่ม   อาจถูกเพื่อนๆไม่ยอมให้เข้ากลุ่มด้วยคำพูดต่างๆ  ที่เด็กฟังแล้วอาจสะเทือนใจ  และรู้สึกผิดที่ตัวเองเลือกต่าง

สถานการณ์แบบนี้   เราอยู่เคียงข้างรับฟังเค้า  และอธิบายให้เค้าให้เห็นภาพ  ว่า  คำพูดเพื่อน  เป็นเพียงคำพูด  

สมมติให้ลูกพูด  คำว่า “แม่ผิวดำ” (ความจริงแม่ผิวขาว)    แล้วคุณแม่ก็คว้าคำพูดกลางอากาศที่ออกมาจากปากลูก  กำไว้ แล้วไปแปะที่ตัวคุณแม่

ถามลูกอีกทีว่า “เป็นยังไง แม่ผิวดำยัง”

เค้าจะเริ่มเข้าใจค่ะ  อย่าคิดว่ายากเกินความเข้าใจของเด็กอนุบาล  ความจริงแล้ว เด็กๆอาจรู้และเข้าใจมากกว่าที่เราคิด

พอเค้าเข้าใจ  เค้าก็จะยืนหยัดในสิ่งที่เลือก  และกล้าที่จะเลือกในครั้งถัดๆไป

 

ภูมิคุ้มกันลูกสร้างได้ และควรสร้างตั้งแต่เล็กๆ    เพื่อให้เค้าเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มั่นคง ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วบนโลกใบนี้   โดยเฉพาะอันตรายหลายอย่างที่เกิดจากอารมณ์ที่เปราะบาง

รักเด็กๆ แม้ไม่ใช่นางงาม555

#แม่กรีนเภสัชแม่กรีนกายภาพ

#เพจเลี้ยงลูกให้มีภูมิคุ้มกัน

ติดตามบทความอื่นๆได้ที่ www.greeneryherbsthailand.com

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้