เคาะปอดระบายเสมหะ ทำให้ลูกที่บ้านได้

Last updated: 14 ธ.ค. 2564  |  1713 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เคาะปอดระบายเสมหะ ทำให้ลูกที่บ้านได้

ลูกไอมีเสมหะ แต่ขับเสมหะออกยาก  คุณพ่อคุณแม่สามารถช่วยได้ค่ะ  ด้วยการให้น้องดื่มน้ำเยอะๆ  ร่วมกับการเคาะปอดเพื่อช่วยให้เสมหะออกง่ายขึ้น  คุณพ่อคุณแม่หลายๆท่านอาจเคยเห็นนักกายภาพบำบัด เคาะปอดให้เด็กๆที่โรงพยาบาล  แล้วเด็กๆหายใจคล่องขึ้น อาการครืดคราดลดลง     หากสามารถทำที่บ้านเองอย่างเหมาะสมก่อนนอน  เด็กๆจะหลับสบาย หายใจคล่องขึ้นแน่นอนค่ะ

การเคาะปอดเพื่อระบายเสมหะ (percussion) คือ การทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนผ่านผนังทรวงอกลงไปถึงแขนงหลอดลม ทำให้เสมหะที่เกาะอยู่บริเวณต่าง ๆ ของทางเดินหายใจส่วนปลายค่อย ๆหลุดเลื่อนและไหลออกมา ตามแขนงหลอดลมจากเล็กไปใหญ่ และกระตุ้นให้ผู้ป่วยไอเพื่อระบายเสมหะออกมา

ทำไมต้อง... เคาะปอด?

- เสมหะเหนียว ถ้าเด็กไอมีเสมหะ อาจจะให้ ยาแก้ไอ ละลายเสมหะได้ แต่ในเด็กบางรายที่มีเสมหะเหนียวมาก ต้องทำการพ่นยาขยายหลอดลม หรือน้ำเกลือผ่านทางออกซิเจนละอองฝอย เคาะปอด และดูดเสมหะออก

 

- การเคาะปอด ช่วยให้เสมหะที่คั่งค้างหลุดออกได้ง่าย และไม่ให้มีเสมหะคั่งค้าง ซึ่งเป็นสาเหตุให้เกิดโรคทางเดินหายใจได้

 

- เด็กเล็กที่ยังไม่สามารถระบายเสมหะได้ด้วยตัวเอง จำเป็นต้องใช้การเคาะปอด และจัดท่าระบายเสมหะช่วย

 

เมื่อไหร่ที่ควรเคาะปอด

มีอาการไอ มีเสมหะมาก หายใจเสียงดังครืดคราด

มีเสมหะคั่งค้างในหลอดลมจำนวนมาก

เด็กที่มีปัญหาระบบประสาท กล้ามเนื้ออ่อนแรง ไม่สามารถไอ หรือระบายเสมหะออกได้ด้วยตัวเอง

วิธีการ เคาะปอด

- จัดท่าเด็กให้ดี การเคาะปอด จะอาศัยแรงโน้มถ่วงของโลก ทำให้เสมหะไหลออกจากหลอดลมเล็กส่วนปลายเข้าสู่หลอดลมใหญ่ตรงกลาง เมื่อเด็กไอ เสมหะก็จะขับออกได้ง่าย ขั้นแรกจึงต้องจับตั้งท่าเด็กให้เหมาะสม ซึ่งแล้วแต่ว่าจะเคาะปอดบริเวณไหน

 

- การเคาะ ใช้อุ้งมือ ไม่ควรใช้ฝ่ามือ ให้ทำมือให้เป็นลักษณะงุ้มโค้งขึ้นเป็นหลังเต่า ให้อุ้งนิ้วทั้ง 5 ชิดติดกัน หรือเรียกการทำมือแบบนี้ว่า cupped hand แล้วเอามือเคาะไปบริเวณส่วนที่ต้องการระบายเสมหะออกมา ใช้ผ้ารองบริเวณส่วนที่จะเคาะด้วย

 

- ระยะเวลาการเคาะ การเคาะแต่ละท่า หากเป็นเด็กเล็ก ควรใช้เวลาประมาณ 1-3 นาที แต่ถ้าเด็กโต อาจจะใช้เวลาประมาณท่าละ 3-5 นาที

 

ขณะเคาะหากเด็กไอ ควรใช้ การสั่นสะเทือนช่วย โดยใช้มือวางราบ พร้อมทั้งเกร็งกล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน และหัวไหล่ทำให้มือสั่น ในระหว่างที่กำลังไอ หรือช่วงที่เด็กหายใจออก

7 ท่าการเคาะปอดแบบต่าง ๆ



ท่าที่ 1 ท่าเคาะปอด กลีบซ้ายบนส่วนยอด

จัดให้เด็กอยู่ในท่านั่งเอนตัวมาข้างหลัง ประมาณ 30 องศา เคาะบริเวณด้านบน เหนือทรวงอกด้านซ้าย ระหว่างกระดูกไหปลาร้า และ กระดูกสะบัก



 

ท่าที่ 2 ท่าเคาะปอด กลีบซ้ายบนด้านหลัง

จัดท่าให้เด็กนั่งคร่อมตัวมาทางด้านหน้าเล็กน้อย บนแขนของผู้ที่จะทำการเคาะปอด แล้วเคาะบริเวณด้านหลังตอนบน เหนือกระดูกสะบัก ระหว่างกระดูกต้นคอและหัวไหล่

 



 

ท่าที่ 3 ท่าเคาะปอด กลีบซ้ายบนด้านหน้า

จัดท่านอนหงายราบ เคาะบริเวณเหนือราวนมต่ำจากกระดูกไหปลาร้าเล็กน้อย

 

 

ท่าที่ 4 ท่าเคาะปอด กลีบซ้ายส่วนกลาง

จัดท่าให้ศีรษะต่ำลงประมาณ 15 องศา และตะแคงด้านซ้ายขึ้นมาประมาณ ¼ จากแนวราบ และเคาะบริเวณราวนมด้านซ้าย

 



ท่าที่ 5 ท่าเคาะปอด กลีบซ้ายล่างส่วนชายปอดด้านหน้า

จัดให้เด็กนอนตะแคงกึ่งคว่ำหน้า ศีรษะต่ำ 30 องศา ประคองทรวงอกบริเวณชายโครงด้านซ้ายหงายขึ้นมาเล็กน้อย เคาะบริเวณเหนือชายโครงด้านข้างตอนหน้า ต่ำจากราวนมลงมาเล็กน้อย

 

ท่าที่ 6 ท่าเคาะปอด กลีบซ้ายล่าง ส่วนชายปอดด้านข้าง

จัดท่าศีรษะต่ำ ประมาณ 30 องศา นอนตะแคงเกือบคว่ำ เคาะบริเวณด้านข้าง เหนือชายโครงระดับเดียวกับท่าที่ 5 ใต้ต่อรักแร้ของเด็ก

 

ท่าที่ 7 ท่าเคาะปอด กลีบซ้ายด้านล่างส่วนหลัง

จัดท่าศีรษะต่ำ 30 องศา นอนคว่ำ เคาะบริเวณด้านหลัง ต่ำจากกระดูกสะบักลงมาในะดับเดียวกับชายโครงด้านหน้า

 

คำแนะนำ ข้อควรระวังในการ เคาะปอด

- การเคาะปอด สามารถทำได้ทั้งเด็กเล็ก และเด็กโต

 

- การเคาะปอด พ่อแม่สามารถทำให้ลูกได้ แต่อาจจะขอคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญ หรือนักบำบัด

 

- ในการเคาะปอด ควรเคาะเป็นจังหวะสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดแรงสั่นสะเทือน ใช้แรงพอดี ไม่เบาเกินไป แต่ก็ไม่แรงจนเกินไป

 

- ไม่ควรเคาะปอดหลังกินอาหาร หรือกินนมอิ่มใหม่ ๆ ควรทำก่อนอาหาร หรือ หลังอาหาร 1-2 ชั่วโมง

 

- หากเด็กมีอาการหอบให้หยุด หากสังเกตเด็ก เหนื่อยเพิ่มมากขึ้น ริมฝีปากซีดคล้ำ หายใจจมูกบาน ให้หยุดการเคาะปอด

 

- หากเด็กร้องไห้ งอแง มากกว่าปกติ ก็ควรหยุดการเคาะปอด

 

- ห้ามทำถ้าเด็กมีกระดูกซี่โครงหัก หรือมีอาการเกี่ยวกับหัวใจ หลอดเลือด ปอดบวมน้ำ ห้ามทำเด็ดขาด

 

- นอกจากการเคาะปอดแล้ว อาจจะใช้วิธีอื่นเพื่อช่วยระบายเสมหะ เช่น ดื่มน้ำอุ่น กลั้วคอด้วยน้ำเกลือหลังมื้ออาหาร  หรือให้ยาแก้ไอ ละลายเสมหะ หากลูกมีอาการไอร่วมด้วย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้